ธนาคารจะส่งข้อมูลบัญชีแบบไหนให้กรมสรรพากรบ้าง? (ฉบับอัปเดตปี 2023)

Page365-epayment-tax.jpg

ภาษี e-Payment หรือ ภาษีอีเพย์เมนต์ ได้ประกาศบังคับใช้แล้วกับทุกคน ไม่ใช่เฉพาะร้านขายออนไลน์ โดยสถาบันการเงินจะต้องส่งข้อมูลบัญชีที่เข้าเงื่อนไขให้กับกรมสรรพากรภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไป เงื่อนไขของการส่งข้อมูล คือทุกบัญชีที่มีธุรกรรมภายในบัญชี ฝาก/รับโอนเงิน 3,000 ครั้งขึ้นไปต่อปี หรือจำนวนครั้งการฝาก/รับโอนเงิน ตั้งแต่ 400 ครั้งขึ้นไปต่อปี และมียอดรวมมากกว่า 2,000,000 บาทต่อปี เรามาทำความเข้าใจรายละเอียดกฎหมายอีเพย์เมนต์เพื่อเตรียมตัวรับมือกันค่ะ


สถาบันที่ต้องนำส่งข้อมูลบัญชีให้กรมสรรพากร

  1. ธนาคาร

  2. สถาบันการเงินต่างๆ

  3. Payment Gateway รวมถึง E-Wallet ต่างๆ ด้วยค่ะ


เงื่อนไขของการส่งข้อมูลบัญชีให้กรมสรรพากร

สถาบันจะนับจำนวนธุรกรรมรวมกันทุกบัญชีที่เกิดขึ้นภายใน 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 31 ธ.ค. ของทุกปี นำส่งข้อมูลให้กรมสรรพากร โดยมีเงื่อนไขดังต่อไปนี้

  1. จำนวนครั้งการฝาก/รับโอนเงิน ตั้งแต่ 3000 ครั้งขึ้นไปต่อปี

  2. จำนวนครั้งการฝาก/รับโอนเงิน ตั้งแต่ 400 ครั้งขึ้นไป และต้องมียอดรวมมากกว่า 2,000,000 บาทต่อปี


ตัวอย่างการนับธุรกรรมทางการเงิน

น้องพิมเพลิน มีบัญชีเงินฝากทั้งหมด 4 บัญชี ดังต่อไปนี้

บัญชี 001 มียอดรับโอนเงินทั้งปีจำนวน 2500 ครั้ง = ไม่ถูกนำส่งข้อมูลให้กรมสรรพากร

บัญชี 002 มียอดรับโอนเงินทั้งปีจำนวน 3500 ครั้ง = ถูกนำส่งข้อมูลให้กรมสรรพากร

บัญชี 003 มียอดรับโอนเงินทั้งปีจำนวน 365 ครั้ง รวมยอด 2,700,000 บาท = ไม่ถูกนำส่งข้อมูลให้กรมสรรพากร

บัญชี 004 มียอดรับโอนเงินทั้งปีจำนวน 450 ครั้ง รวมยอด 2,700,000 บาท = ถูกนำส่งข้อมูลให้กรมสรรพากร


รายการฝาก/รับโอนเข้าบัญชีแบบไหนบ้าง ?

  1. ยอดเงินฝากเข้าบัญชี

  2. ยอดรับโอนเงิน

  3. ยอดเงินฝากเช็คเข้าบัญชี

  4. ยอดจากดอกเบี้ย

  5. ยอดจากเงินปันผล


กรมสรรพากรจะได้รับข้อมูลอะไรบ้างจากสถาบัน?

  1. เลขประจำตัวประชาชน / เลขนิติบุคคล

  2. ชื่อ-สกุล เจ้าของบัญชี / ชื่อนิติบุคคล

  3. จำนวนครั้งของการฝากหรือรับโอนเงิน

  4. ยอดรวมของการฝากหรือรับโอนเงิน

  5. เลขที่บัญชีที่มีการฝากหรือรับโอนเงิน


เริ่มบังคับใช้กฎหมายเมื่อไหร่?

ประกาศกฎหมายเริ่มบังคับใช้เมื่อมกราคมปี 2562 และบังคับให้ส่งรายงานข้อมูลบัญชีที่มีธุรกรรมพิเศษให้แก่กรมสรรพากรภายในเดือนมีนาคม ปี 2563 เป็นต้นไป และเริ่มใช้จริง โดยสถาบันไม่ต้องนำส่งข้อมูลบัญชีย้อนหลังให้กรมสรรพากร

อัพเดทล่าสุด (10 ม.ค.2564)

ปี 2563 เป็นต้นไป สถาบันจะส่งข้อมูลบัญชีที่เข้าเงื่อนไขให้กับกรมสรรพากร โดยการนับธุรกรรมฝากหรือรับโอนเงิน ทางธนาคารนับธุรกรรมแบบปีต่อปีตามปกติ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 31 ธ.ค. ของทุกปีค่ะ


ข้อแนะนำสำหรับร้านค้าออนไลน์

  1. ทำบัญชีรายรับรายจ่าย เพื่อแจกแจงรายละเอียดในแต่ละธุรกรรมของธุรกิจ

  2. ขอใบกำกับภาษีในการซื้อมาขายไปทุกครั้ง เพื่อใช้เป็นหลักฐานเมื่อทำการยื่นภาษี

  3. จดเทียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ให้ธุรกิจถูกต้องตามกฎหมาย

  4. แยกบัญชีส่วนตัว กับบัญชีที่ใช้ทำธุรกิจ

  5. ศึกษาข้อมูลเรื่องเกี่ยวกับภาษีออนไลน์


ภาษีอีเพย์เมนต์ถูกบังคับใช้กับทุกคน ไม่ใช่เฉพาะร้านค้าออนไลน์เท่านั้น จะดีกว่าไหมถ้าเราเตรียมพร้อมรับมือโดยจดทะเบียนร้านค้าออนไลน์ให้ถูกต้องตามกฎหมาย และหาตัวช่วยดีๆ เพื่อดูสถิติยอดขายรายเดือนหรือเลือกช่วงเวลาที่ต้องการได้ พร้อมทั้งบอกยอดรับโอนของแต่ละบัญชีได้ด้วย เพียงเท่านี้ก็ไม่ต้องเป็นกังวลแล้ว :)